fbpx

ประวัติวัดมัชฌันติการาม

วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) ได้สร้างมาเมื่อใดไม่มีประวัติปรากฏชัดเจนจึงยากที่จะทราบประวัติความเป็นมาที่ถูกต้อง จากการเล่าสู่กันมาของคนในท้องถิ่น ประกอบกับหลักฐานที่พอจะรวบรวมได้ในปัจจุบันคือ วัดนี้เริ่มสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดป่าที่ล้อมไปด้วยสวนทุเรียน สวนกล้วย สวนหมาก สวนส้ม ในสมัยนั้นยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระธุดงค์ที่ผ่านไปมามีพระอยู่บ้าง ไม่มีบ้าง

เจดีอุโบสถวัดมัชฌันติการาม


จนมาถึงพุทธศักราช ๒๔๑๗ เจ้าจอมมารดาเที่ยง เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ เป็นองค์อุปถัมภ์ในการก่อสร้างศาสนวัตถุต่าง ๆ เพื่อจะให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามพระวินัยและกฎหมายบ้านเมือง การสร้างวัดได้มาสำเร็จบริบูรณ์ในสมัยนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับเป็นพระธุระในการผูกพัทธสีมา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดมัชฌันติการาม” เมื่อสิ้นบุญเจ้าจอมมารดาเที่ยงแล้ว ก็มีเจ้าจอมมารดาแสร์ พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า อภันตรีปชาและจางวางตุ่มเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์สืบต่อ ๆ กันมาตามลำดับจนมาถึงประชาชนทั่วไปให้การอุปถัมภ์ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันเนื่องจากสมัยก่อนการคมนาคมไม่เหมือนในปัจจุบัน เมื่อเจ้านายจะเสด็จไปทางน้ำ เจ้าจอมมารดาเที่ยงก็เช่นเดียวกัน รวมทั้งเจ้านายองค์อื่น ๆ เมื่อเสด็จมาวัดมัชฌันติการามก็เสด็จมาทางเรือ โดยอาศัยคลองบางเขนใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด จึงเป็นที่มาของการสร้างอุโสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตก การตั้งชื่อวัดนั้นก็เนื่องมาจาก เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นผู้อุปถัมภ์ ในรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “มัชฌันติการาม” ตามชื่อของผู้อุปถัมภ์ในการสร้างวัด คือ มัชฌันติก และอารามซึ่งแปลตามตัวว่า “เที่ยง” และ “วัด” เมื่อรวมกันจึงแปลได้ว่า “วัดของเจ้าจอมมารดาเที่ยง” คนส่วนมากชอบเรียกว่า วัดน้อย เพราะง่ายต่อการออกเสียงกว่าคำว่า วัดมัชฌันติการาม สันนิษฐานว่าการเรียกวัดน้อยนี้ เพราะเป็น วัดของเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งให้การอุปถัมภ์ ชาวบ้านทั่วไปถือว่า เป็นนางสนม เพื่อให้เข้าใจง่ายคู่กับวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดของภรรยาหลวงให้การอุปถัมภ์เช่นเดียวกัน (อยู่ในซอยถัดไป ปัจจุบันวัดหลวงไม่มี เหลือแต่ที่ดินของวัด ซึ่งสำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลอยู่) เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกในสมัยก่อน จึงมีพระอยู่จำพรรษาไม่กี่รูปต้องไปนิมนต์พระจากวัดอื่นมาอยู่จำพรรษา เช่น วัดราชาธิวาส วัดปทุมวนาราม วัดราชบพิธ และวัดบวรนิเวศวิหาร จนต่อมามีการตัดถนนวงศ์สว่าง ผ่านด้านหลังวัด ทางวัดพร้อมด้วยอุบาสก อุบาสิกา มีลุงแม้น-ป้าทองใบ ใบสนและราษฎรผู้มีจิตศรัทธา ช่วยกันบริจาคที่ดินตัดถนนเข้าวัดในสมัย พระครูวิจิตรธรรมสาร (อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๗)
หลังจากนั้นทางวัดได้ขออนุญาตเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลีขึ้น โดยเป็นสาขาของวัดบวรนิเวศวิหาร จึงเป็นเหตุให้มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปี มีพระภิกษุสามเณรสอบได้ทั้งนักธรรมและบาลีเป็นจำนวนมาก จนได้รับการยกย่องจากพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ตลอดมา
วัดมัชฌันติการาม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๒ ถนนวงศ์สว่าง ๑๑ แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๗๘.๕ ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือ จดกับรั้วสวนของคุณโยมกลิ้ง – คุณโยมชิต เนียมประเสริฐ ทิศใต้ จดกับกำแพงโภคามหาศาล ทิศตะวันออก จดกับกำแพงบ้านแสงระวี และชุมชนสมบุญดี ทิศตะวันตก จดกับคลองบางเขนใหม่ อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๖ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องโบราณ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันถือปูนมีตรีมูรติอยู่บนพาน อันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ภายใต้มงกุฎครอบ มีฉัตร ๕ ชั้น ประดับทั้งสองข้าง มีรัศมีเปล่งประกายโดยรอบ ซึ่งใช้เป็นตราของวัดมัชฌันติการามปัจจุบัน เจดีย์ กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นเจดีย์ที่สร้างมาพร้อมกับอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสีทองอร่าม สูง ๑๗ เมตร ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นศาลาสองชั้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นบนเป็นไม้ ศาลาปฏิบัติธรรม กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ค่าก่อสร้าง ๔๓ ล้านบาท สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก วิหารหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช กว้าง ๑๒ เมตร ๒๐ ซม. ยาว ๑๒ เมตร ๒๐ ซม. สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ โรงเรียนพระปริยัติธรรม กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๓๖ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ซุ้มประตูปากซอยเข้าวัด (ซอยวงศ์สว่าง ๑๑) เป็นซุ้มประตูแห่งเดียวในเขตบางซื่อ ที่นำตราคณะธรรมยุตินิกายมาประดิษฐานบนซุ้ม ฌาปนสถานวัดมัชฌันติการาม เป็นฌาปนสถานเตาเผาไร้มลพิษ ๒ เตา เพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ได้รับการอุปถัมภ์อย่างดียิ่งจากพุทธศาสนิกชน ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคในการเปลี่ยน หัวเตาจากไฟฟ้ามาเป็นหัวเตาเผาน้ำมันปราศจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม กุฏิสงฆ์ ๒๐ หลัง นอกจากนี้ยังมีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ดังนี้ คือ หอระฆัง หอกลอง ที่ใช้ตีบอกเวลาในการทำวัตรเช้า-เย็น โดยมีระบบตั้งเวลาให้ตีโดยอัตโนมัติ ปูชนียวัตถุมีพระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว สูง ๗๐ นิ้ว ยังไม่มีชื่อ มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และมีพระประธานประจำศาลา การเปรียญ ปางสมาธิ นามว่า พระพุทธศรีสัมโพธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว สูง ๗๐ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ ปูชนียวัตถุอื่น ๆ มี พระนิรันตราย จำลอง ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๖๐ นิ้ว สร้างเมื่อ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ๔ องค์ สูง ๒.๕ เมตร ข้างหลังแต่ละองค์มีเครื่องหมายของราชวงศ์จักรี สันนิษฐานว่าเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีพระองค์หนึ่งที่ทรงประสูติวันจันทร์ เป็นผู้หล่อถวายวัด เป็นของเก่าแก่คู่กับอุโบสถ รูปหล่อปูนปั้นหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช (พระครูธรรมสารวิจิตร) อดีตเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดมัชฌันติการาม หน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว สูง ๓๓ นิ้ว และตู้พระไตรปิฎกลายกนกรดน้ำ ๓ ตู้ เป็นตู้ทรงพระไตรปิฎกที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ไม่มีประวัติแน่นอนว่า ใครเป็นผู้สร้างถวาย เป็นของเก่าแก่คู่กับวัดมาตั้งแต่สร้างวัด มีใบประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐
รายนามลำดับเจ้าอาวาส
รูปที่ ๑ พระครูธรรมสารวิจิตร (หลวงปู่อ่อน ญาณเตโช) พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๔๕๗
รูปที่ ๒ พระอาจารย์กล่อม พ.ศ. ๒๔๕๘ – ๒๔๖๐
รูปที่ ๓ พระอาจารย์สำราญ พ.ศ. ๒๔๖๑ – ๒๔๖๔
รูปที่ ๔ หลวงตาอินทร์ พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๖๘
รูปที่ ๕ พระครูชม (มาจากวัดราชบพิธ) พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๔๗๕
รูปที่ ๖ พระอาจารย์คำภา พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๘๖
รูปที่ ๗ พระครูวิจิตรธรรมสาร (วิสุธรรม จนฺทสาโร น.ธ.โท, ป.ธ.๔) พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๕๔๐
รูปที่ ๘ พระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญโญ น.ธ.เอก, ป.ธ.๓, ศน.บ., M.A., Ph.D.)
พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๖๔
รูปที่ ๙ พระครูปลัดสุวัฒนวิสาลคุณ, (บุญยอด ต้นกันยา น.ธ.เอก, ป.ธ.๓, ศน.บ., ศษ.ม.,
M.A., Ph.D.) ๕ เม.ย. ๒๕๖๕ – ปัจจุบัน

ศาลาท่าน้ำวัดมัชฌันติการาม (เก่า)
ใบเสมาวัดมัชฌันติการาม