fbpx

ประวัติพระครูวิจิตรธรรมสาร (หลวงปู่ไขย)

พระครูวิจิตรธรรมสาร (หลวงปู่ไขย)
พระครูวิจิตรธรรมสาร (หลวงปู่ไขย) เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ของวัดมัชฌันติการาม

ชาติภูมิ

พระครูวิจิตรธรรมสาร นามเดิม ไขย นามสกุล นามสง่า ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น วิสุธรรม เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีกุน ณ บ้านขวาว หมู่ที่ ๔ ตำบลขวาว อำเภอ    เสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โยมบิดา ชื่อ นายพรหมเสน นามสง่า โยมมารดา ชื่อ นางตุ่น นามสง่า ท่านเป็นบุตรคนที่ ๗ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๘ คน คือ

๑. นายสิงห์  นามสง่า  (ถึงแก่กรรม)
๒. นางทอง  พันธัง  (ถึงแก่กรรม)
๓. นางวัน  โพธิจักร  (ถึงแก่กรรม)
๔. นางที  โพธิจักร  (ถึงแก่แกรรม)
๕. นางสี  นามสง่า  (ถึงแก่กรรม)
๖. นายบุญธรรม  นามสง่า  (ถึงแก่กรรม)
๗. พระครูวิจิตรธรรมสาร  (วิสุธรรม จนฺทสาโร)  มรณภาพ
๘. นางไข่  พันธัง  (ถึงแก่กรรม)

การบรรพชาอุปสมบท

เมื่ออายุ ๒๑ ปี เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ตรงกับวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก ณ พัทธสีมาวัดบึงพระลานชัย ตำบลในเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด”โดยมี พระครูคุณสารพินิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาทองคำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “จนฺทสาโร” และได้จำพรรษาที่วัดบึงพระลานชัย ๑ พรรษา หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านได้ตัดสินใจลาพระอุปัชฌาย์เดินทางเข้ามากรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมาหาพระมหาอรุณ ที่วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งพระมหาอรุณได้นำมาฝากกับท่านเจ้าคุณพระราชเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนสอบได้นักธรรมและบาลีตามลำดับ ขณะที่เรียนนั้นได้ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเรียนที่วัดบวรนิเวศวิหาร (บางวิชาก็ได้เรียนกับเจ้าพระคุณสมเด็จ     พระฌาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบัน) ท่านได้จำพรรษาที่วัดบวรมงคล ๑๑ พรรษา ต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามว่างลง ท่านเจ้าคุณพระเขมาภิมุขธรรม (เกตุ) เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี ได้ขอพระมหา      วิสุธรรม กับท่านเจ้าคุณพระราชเมธาจารย์ ให้ไปรักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาส หลังจากนั้นได้จัดส่งรายชื่อพระภิกษุผู้อาวุโสจำนวน ๔ รูปไปถวาย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงเลือกพระมหาวิสุธรรม ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงมรณภาพ

 

การศึกษาโลกและทางธรรม

พ.ศ. ๒๔๖๕     สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านขวาว ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๗๘     สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๘๑     สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๙๑     สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๔ สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร

งานสาธารณูปการ

พ.ศ. ๒๔๘๗    หลังจากดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามแล้ว ก็ได้ทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ วัดมัชฌันติการาม ให้เจริญรุ่งเรืองดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๕๐๕     ได้รับเป็นประธานในการสร้างอุโบสถ วัดสระโบสถ์ บ้านขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมทั้งได้บริจาคทรัพย์ตั้งกองทุนไว้ประจำวัดสระโบสถ์
พ.ศ. ๒๕๑๕      ได้รับเป็นประธานในการสร้างอุโบสถ วัดอินทรธรรมสาร บ้านขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๕๓๕     ได้รับเป็นประธานในการสร้างฌาปนสถาน วัดอินทรธรรมสาร บ้านขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด