fbpx

ประวัติเจ้าจอมมารดาเที่ยง

ประวัติเจ้าจอมมารดาเที่ยง

เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2374 – พ.ศ. 2456) เป็นเจ้าจอมมารดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป

เจ้าจอมมารดาเที่ยง เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔ เป็นธิดาคนโตของ พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) และขรัวยายคล้าย มีน้องสาวที่เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน คือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม และ เจ้าจอมมารดาทับทิม (ธิดาขรัวยายอิ่ม) และเจ้าจอมมารดาแส (ธิดาขรัวยายบาง) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัยยกย่องเป็นพระสนมผู้ใหญ่ โปรดเกล้าฯให้บัญชาการห้องพระเครื่องต้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงให้พระประสูติการพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง ๑๐ พระองค์ คือ

  • พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี (พ.ศ. ๒๓๙๕-๒๔๗๔) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์
  • พระองค์เจ้าชายเสวตรวรลาภ (พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๐๒)
  • พระองค์เจ้าหญิงศรีนาคสวาดิ (พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๔๕๖) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
  • พระองค์เจ้าชายกมลาสน์เลอสรรค์ (พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๗๔) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร
  • พระองค์เจ้าหญิงกนกวรรณเลขา (พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๖๑) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา
  • พระองค์เจ้าหญิง (ประสูติเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ ๘ วัน)
  • พระองค์เจ้าชายไชยานุชิต (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๗๘) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป
  • พระองค์เจ้าหญิงแขไขดวง (พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๗๒) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
  • พระองค์เจ้าชายจรูญฤทธิเดช (พ.ศ. ๒๔๐๘ สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ ๙ วัน)
  • พระองค์เจ้าหญิงพวงสร้อยสอางค์ (พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๙๓) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

เจ้าจอมมารดาเที่ยง เป็นผู้สร้างวัดมัชฌันติการาม ขึ้นที่ตำบลบางซื่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ ชื่อวัดมาจากคำว่า มัชฌันติก และ อาราม มีความหมายว่า “วัดของเจ้าจอมมารดาเที่ยง” เจ้าจอมมารดาเที่ยง ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ อายุได้ ๘๒ ปี ๑ เดือน ๖ วัน

เจ้าจอมมารดาแสร์ โรจนดิส เป็นธิดารุ่นเล็กของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ)ได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาแส ท่านเป็นเจ้าจอมพระสนมเอกคนสำคัญไม่น้อยในรัชกาลที่ ๕ เรือนของท่านในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นตำหนักพระราชธิดาสองพระองค์ด้วย ว่ากันว่ากว้างขวางใหญ่เกือบเท่าตำหนัก สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

ท่านได้ให้กำเนิดพระราชโอรสและพระธิดา คือ

  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเขจรจิรประดิษฐ์
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาลังการ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเจ้าจอมมารดาแส (เป็นพระธิดาของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) และขรัวยายบาง) ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 12 ขึ้น 8 ค่ำ ปีฉลู เอกศก จ.ศ. 1251 ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2432

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา มีพระเชษฐาและพระกนิษฐภคินี ร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันตามลับ ได้แก่

– พระองค์เจ้าเขจรจิรประดิษฐ์ (ประสูติวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 สิ้นพระชนม์วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2431 พระชนมายุ ได้ 3 เดือน)

– พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์อัพภันตรีปชา (ประสูติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2432 สิ้นพระชนม์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 พระชนมายุ ได้ 45 ชันษา)

– พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทิพยาลังการ (ประสูติวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2433 สิ้นพระชนม์ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระชนมายุได้ 42 ชันษา)

– พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา เป็นพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงเป็นที่สนิทสิเนหาและ ได้รับพระเมตตากรุณาจากสมเด็จพระบรมชนกนารถพระปิยมหาราชเป็นอันมาก เมื่อมีพระชนมายุครบกำหนดโสกันต์ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพิธีโสกันต์ตามพระราชประเพณี และให้ทรงศึกษาวิชาหนังสือไทยบ้าง ฝรั่งบ้าง ประกอบทั้งการฝีมือเย็บปักถักร้อย ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา จึงได้ทรงเป็นนักศึกษา มีวิชาความรู้ทันสมัย มีพระจริยามารยาทงดงาม พระทัยโอบอ้อมอารี และได้ทรงประกอบความดีไว้หลายประการ เป็นต้นว่า

1. ในทางพระพุทธศาสนา ทรงบำเพ็ญพระกุศลเป็นเนืองนิจได้ทรงปฏิสังขรณ์    วัดน้อย อำเภอ บางซื่อ จังหวัดพระนครซึ่งเป็นวัดของสกุลโรจนดิษ และถวายจตุปัจจัยแก่วัดนั้นเกือบทุกปี ซึ่งปัจจุบันคือ วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) ถนนวงศ์สว่าง ๑๑  แขวงวงศ์สว่าง  เขตบางซื่อ จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยได้ทรงบวชกุลบุตรที่มีศรัทธาจะบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเมื่อทรงสงเคราะห์ให้ได้บวชแล้ว ก็ถวายนิจภัตต์ ประจำเดือนด้วยใครมาเรี่ยไรทำการอันใดเกี่ยวกับการศาสนาก็มักไม่ได้กลับไปมือเปล่าคงทรงร่วมการกุศลด้วยเสมอ

     2. ในทางพยาบาล ก็ได้ทรงออกเงินช่วยเหลือเนืองๆ เมื่อเจ้าจอมมารดาแสของพระองค์ท่านถึงอสัญกรรมแล้ว ก็ได้ทรงอุทิศเงินตั้งเป็นทุนไว้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วยพระกนิษฐภคินี เรียกว่า “ทุนพระธิดาเจ้าจอมมารดาแส” และทรงเพิ่มเติมทุนนั้นเกือบทุกปี

3. ในทางการศึกษา ทรงอุตส่าห์เก็บเงินตั้งโรงเรียนขึ้นในที่ส่วนของพระองค์ ทรงยกตึก 2 ชั้น ที่เคยประทับอยู่นั้นให้เป็นโรงเรียน ภายหลังเสด็จออกไปจากสวนสุนันทา ซึ่งแต่ก่อนเคยไปประทับที่ตึกนั้นก็ไม่ได้ประทับ สู้อุตส่าห์ไปประทับในเรือนเล็กๆ มอบตึกใหญ่ให้เป็นโรงเรียน นับว่าเป็นการเสียสละอันยากที่ผู้อื่นจะทำได้ โรงเรียนนี้เมื่อตั้งมาหลายปีก็เจริญยิ่งขึ้นโดยลำดับ ในที่สุดเมื่อ 6-7 ปี มาแล้วนี้ เสนาบดีกระทรวงธรรมการครั้งนั้นเห็นว่าจะเป็นโรงเรียนที่ถาวรมั่นคงต่อไป เพราะมีนักเรียนถึง 400 เศษ และตั้งอยู่ในย่านตำบลที่ไม่มีโรงเรียนสตรี จึงได้ประทานนามว่าโรงเรียน “ขัตยาณีผะดุง” ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียน “อภันตรีผะดุง” ในพระนามของพระองค์โดยตรง เพราะได้ทรงออกทุนรอนตั้งขึ้น และทรงทนุบำรุงมาช้านาน ในเวลานี้หรือต่อไปไม่ช้า ก็พอจะเก็บเงินเลี้ยงตัวได้

4. ในทางช่วยเหลือประเทศในยามคับขัน ก็ได้ทรงกระทำโดยการซื้อใบกู้ของรัฐบาลสยามด้วยพระองค์เอง และทรงแนะนำชักชวนให้ผู้อื่นซื้อใบกู้อีกเป็นจำนวนไม่น้อย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ได้ประชวรพระโรคไตประมาณ 25 ปี มีพระอาการมากบ้างน้อยบ้างตลอดมา ครั้นถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2477 ก็เริ่มมีพระอาการมากขึ้น ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันมีพระอาการประชวรไข้หวัดใหญ่และการอักเสบที่พระทนต์และพระศอเข้าผสม พระอาการทางไตก็กำเริบขึ้นโดยลำดับ จนเป็นเหตุสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 คำนวณพระชนมายุได้ 45 ชันษา

สถานที่ตั้งของห้องสมุดพรรคชาติไทย

ห้องสมุดพรรคชาติไทย ตั้งอยู่บริเวณตำหนักพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 อยู่บริเวณชั้นล่างของตำหนักจัดเก็บสารนิเทศและหนังสือตำราทั่วๆไป โดยให้บริการที่อ่านหนังสือ และบริการยืม คืน หนังสือให้แก่สมาชิกผู้ใช้บริการวารสาร หนังสือพิมพ์ และโสตทัศนวัสดุ

ส่วนที่ 2 อยู่บริเวณชั้น 2 จัดเก็บหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และกฎหมายไทยตลอดจนหนังสือโบราณและหนังสือหายาก