ประวัติของพระครูธรรมสารวิจิตร (หลวงปู่อ่อน ญาณเตโช)
ประวัติของพระครูธรรมสารวิจิตร หรือหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช ไม่มีการบันทึกไว้ มีแต่การบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของบรรดาศิษยานุศิษย์ จึงต้องทำการค้นคว้าต่อไปตามคำบอกเล่าที่พอจะรวบรวมได้ คือ ภูมิลำเนาเดิมของหลวงปู่อ่อน
เป็นคนอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ไม่ทราบว่าอุปสมบทเมื่อไหร่สันนิษฐานว่าอุปสมบทในรัชกาลที่ ๔ หลังจากอุปสมบทในบวร พระพุทธศาสนาแล้วก็ได้ศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรม ตามที่มีในสมัยนั้น รวมทั้งศึกษาไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ เวทย์มนต์คาถาต่าง ๆ จากสำนักของครูอาจารย์ที่มีในสมัยนั้น ทั้งในเขตจังหวัดชลบุรี บ้านเกิด ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี อยุธยา จนมีความเชี่ยวชาญ หลวงปู่อ่อนเป็นศิษย์สำนักเรียนเดียวกันกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท กอปรกับหลวงปู่มีนิสัย ชอบธุดงค์กรรมฐานไปในสถานที่สงัด ปราศจากผู้คนเพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐานอาจกล่าวได้ว่าจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคกลางนี้เกือบทั้งหมด
หลวงปู่เคยเดินธุดงค์ไปมาหมดแล้ว หลวงปู่จึงมีชื่อเสียงทั้งทางเมตตาและทางขมังเวทย์ตั้งแต่ยังเป็นภิกษุหนุ่ม ประจวบกับสมัยนั้นเจ้าจอมมารดาเที่ยงและลูกหลานได้มาอุปถัมภ์ ในการสร้าง วัดมัชฌันติการามอยู่ และได้กราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณ วโรรส ทรงรับเป็น พระธุระช่วยเหลือในการปฏิสังขรณ์ พระอารามในด้านต่าง ๆ ทั้งอุโบสถ เจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิรับรองพระสงฆ์ในขณะเดียวกันก็หาพระภิกษุที่มีศีลาจารวัตร เป็นที่น่าเลื่อมใสมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดด้วย การก่อสร้างศาสนวัตถุต่าง ๆ ได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ยังขาดแต่พระภิกษุผู้จะมาจำพรรษาและดำรงตำแห่งเจ้าอาวาส กิตติศัพท์ของหลวงปู่อ่อนว่าเป็นผู้มี ศีลาจารวัตรงดงามน่าเลื่อมใสได้ทราบไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรส ได้มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าและได้ตรัสรับสั่งนิมนต์ให้อยู่จำพรรษา เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาของผู้อุปถัมภ์วัดและศรัทธาของประชาชน ชาวสวนคลองบางเขนใหม่ด้วย หลวงปู่อ่อนจึงได้มาอยู่จำพรรษาที่วัดมัชฌันติการาม ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๔๑๗ เป็นต้นมา หลังจากการก่อสร้างอุโบสถ เจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิรับรองพระสงฆ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็มีการจัดงานผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตอุโบสถพร้อมทั้งฉลองวัดไปในงานเดียวกันใน ปีพุทธศักราช ๒๔๑๘ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณ วโรรส เป็นประธานในการผูกพัทธสีมาหลังจากงานเสร็จหลวงปู่ก็อยู่ปกครอง คณะสงฆ์เป็นที่พึ่งแก่คณะอุบาสก อุบาสิกาวัดมัชฌันติการามเป็นลำดับมา โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ จากความที่หลวงปู่เป็นพระภิกษุที่มีศีลาจารวัตรงดงามเป็นที่ เคารพนับถือของคนในท้องถิ่นนี้เป็น จำนวนมาก และเป็นพระภิกษุที่ทรงไว้ซึ่งวิทยาคุณ เป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไป
จนข่าวได้ทราบไปถึงพระเนตรพระกรรณของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์เอกของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ว่ามีสหธรรมิกของหลวงปู่ศุขได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดมัชฌันติการาม จนมีชื่อเสียงปรากฏ มีลูกศิษย์ที่ให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก ใคร่ที่จะมาฝากตัวเป็นศิษย์บ้าง จึงได้แจวเรือมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางเขนใหม่ ซึ่งเป็นทางคมนาคมเข้าออกวัดที่สะดวกที่สุด
ในสมัยนั้นกับทหารองครักษ์ ขึ้นที่ท่าน้ำแล้วเข้าไปกราบ ใคร่อยากทดลองดูวิทยาคุณของหลวงปู่ว่าสมคำเล่าลือหรือไม่ จึงกราบเรียนขอวัตถุมงคลจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ และได้รับเมตตาเป็นผ้าประเจียดจากหลวงปู่ ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดขมังเวทย์ของท่าน จึงอยากทดลองดูโดยแจวเรือออกไปที่แม่น้ำเจ้าพระยากับทหารองครักษ์ แล้วนำผ้าประเจียดมาตั้งจิตอธิฐานว่า ถ้าหลวงปู่มีวิยาคุณสมคำเล่าลือจริงขอให้ยิงพระแสงปืนไม่ออก แล้วได้ทดลองดูหลายครั้ง พระแสงปืนยิงไม่ออก ได้ประจักษ์พยานด้วยพระองค์เอง จึงหันเรือกลับมาที่วัดมัชฌันติการาม ฝากตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาอีกของบรรดาแม่ค้าที่นำสินค้าเข้ามาขายตามคลองบางเขนใหม่ เมื่อเดินทางถึงหน้าวัดมักขอพรจากรูปเหมือนหลวงปู่อ่อน และกวักน้ำที่ท่าน้ำวัดปะพรมที่เรือและสินค้าต่าง ๆ ในเรือเพื่อความเป็นสิริมงคลค้าขายดี จนทำกันเป็นประเพณี เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าขายของต่าง ๆ ได้หมดในเวลาไม่นาน หลวงปู่จึงเป็นที่เคารพอย่างยิ่งของแม่ค้าทางเรือที่สัญจรค้าขายไปมา จนชื่อเสียงของหลวงปู่อ่อนในทางเมตตามหานิยม ขมังเวทย์ยิ่งโด่งดังเป็นที่โจษขานของคนทั่วไปยิ่งขึ้น จนชื่อเสียงไปถึงสำนักพระราชวัง ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดได้ทรงทราบ ใคร่จะพระราชทานสมณศักดิ์ให้ เพื่อเป็นการบูชาคุณหลวงปู่ แต่เนื่องจากหลวงปู่เป็นพระที่มักน้อยสันโดษ ไม่ปรารถนายศถาบรรดาศักดิ์ใด ๆ หลวงปู่จึงไม่เดินทางไปเข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศและผ้าไตร ในพระบรมมหาราชวังทั้ง ๆ ที่ในสมัยนั้นการปกครองเป็นแบบระบบสมบูรณาญาสิทธิราช จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่จากกรมสังฆการีนำตราตั้งและพัดยศมาถวายถึงวัดมัชฌันติการาม ในกาลต่อมาทางเจ้าคณะเขตผู้ปกครองตามลำดับชั้น ได้พิจารณาเห็นว่าหลวงปู่อ่อนเป็นผู้ที่มีพรรษากาลพอควร มีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสมานาน มีศิษยานุศิษย์มากมาย จึงเสนอแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อให้การอุปสมบทกุลบุตร ผู้มีจิตศรัทธาใคร่อุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนา ในบรรดาสิทธิวิหาริก ของหลวงปู่เป็นอุปัชฌาย์ให้นั้น ที่มีชื่อเสียงปรากฏเป็นถึงรองสมเด็จพระราชาคณะ คือ พระเดชพระคุณ พระญาณวโรดม (สนธิ์ กิญจกาโร) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร หลวงปู่อ่อนในขณะนั้นจึงมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วทุกทิศ มีศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายเจ้านายชั้นสูง พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ และประชาชนทั่วไปนับถือเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่อ่อน บรรดาศิษยานุศิษย์ต่างก็มาร่วมกันในการทำบุญทำกุศล ที่ศาลาการเปรียญวัดมัชฌันติการาม แม้การคมนาคมจะไม่สะดวก แต่บรรดาศิษยานุศิษย์ต่างก็ตั้งใจกันมาด้วยจิตอันศรัทธาต่อหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช หรือสมณศักดิ์ “พระครูธรรมสารวิจิตร” ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ศิษยานุศิษย์ ต่างก็รู้กันโดยปริยายต้องมาร่วมทำบุญ กาลต่อมาหลังจากที่หลวงปู่อ่อนได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับศิษยานุศิษย์มาเป็นเวลานานจนเลยเข้าสู่วัยชรา ธรรมดาของสังขารย่อมมีร่วงโรยไปตามกาลเวลา ไม่มีใครที่สามารถจะอยู่ค้ำฟ้าได้ ดังบทที่พระท่านพิจารณาบังสุกุล คือ
อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน อันใดเลย
อุปฺปาทวยธมฺมิโน เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เตสํ วูปสโม สุโข การไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด โดยดับสังขารเหล่านั้น
เข้าสู่นิพพานเสียได้เป็นสุข
สพฺเพ สตฺตา มรนฺติ จ สัตว์ทั้งปวง กำลังตายอยู่ด้วย
มรึสุ จ มริสฺสเร ตายไปแล้วด้วย จักตายด้วย
ตเถวาหํ มริสฺสามิ ตัวเราก็จักตายอย่างนี้เหมือนกัน
นตฺถิเม เอตฺถ สํสโย เราไม่ต้องสงสัยในเรื่องความตายนี้
พระครูธรรมสารวิจิตร ก็เช่นเดียวกัน หลวงปู่ได้ป่วยด้วยโรคชราภาพ และได้ถึงแก่มรณภาพ ในขณะที่มีอายุได้ ๗๐ กว่าปี ในตอนต้นของสมัยรัชกาลที่ ๖ สังขารของหลวงปู่อ่อน ได้ทำการพระราชทานเพลิงศพที่วัดมัชฌันติการาม หลังจากนั้นได้มีการนำอัฐิของหลวงปู่ไปบรรจุไว้ภายใต้รูปเหมือน หลวงปู่อ่อน ญาณเตโช ที่วิหารของท่านในปัจจุบัน แต่บรรดาศิษยานุศิษย์ที่เคารพนับถือในตัวท่านก็ยังระลึกถึงคุณงามความดีของท่านกันอยู่ทุกปี ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่าจะมาทำบุญบำเพ็ญกุศล อุทิศถวายแด่หลวงปู่อ่อนมาตลอดจนเป็นประเพณีงานประจำปีปิดทองรูปเหมือนของท่านมาจนถึงปัจจุบัน