fbpx

ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดมัชฌันติการาม

ปูชนียสถานและถาวรวัตถุที่สำคัญในวัดมัชฌันติการาม

๑. อุโบสถ เป็นอุโบสถเก่าแก่  สร้างมาตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างวัด มาแล้วเสร็จและผูกพัทธสีมาให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยในปี พุทธศักราช ๒๔๑๘ รูปแบบอุโบสถเดิม ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ เป็นทรงปั้นหยา  แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะหลายครั้ง จึงมีรูปแบบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยมีความยาว ๒๒.๕๐ เมตร กว้าง ๙.๘๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันมีคลองบางเขนใหม่ เป็นทิศเบื้องหน้า หลังคามุงกระเบื้องโบราณ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันถือปูนมีตรีมูรติอยู่บนพาน อันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ภายใต้มงกุฎครอบ มีฉัตร ๕ ชั้น ประดับทั้งสองข้าง มีรัศมีเปล่งประกายโดยรอบ ซึ่งใช้เป็นตราของวัดมัชฌันติการามปัจจุบัน

 

โบสถ์เก่า วัดมัชฌันติการาม
โบสถ์เก่า วัดมัชฌันติการาม
โบสถ์เก่า วัดมัชฌันติการาม
โบสถ์เก่า วัดมัชฌันติการาม ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๐
โบสถ์-เจดีย์-วัดมัชฌันติการาม
โบสถ์และเจดีย์วัดมัชฌันติการาม

 

            ๒. เจดีย์องค์ใหญ่ (บูรณะ พุทธศักราช ๒๕๔๕) เป็นเจดีย์ที่สร้างมาพร้อมกับอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสีทองอร่าม สูง ๑๗ เมตร ทางวัดได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของ        พระสาวกขึ้นประดิษฐานที่เจดีย์องค์ใหญ่ วันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕  เจดีย์นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติจากกรมศิลปากรแล้วปัจจุบัน

เจดีย์เก่า วัดมัชฌันติการาม
เจดีย์เก่า วัดมัชฌันติการาม
เจดีย์ วัดมัชฌันติการาม
เจดีย์ วัดมัชฌันติการาม

๓. ศาลาการเปรียญ เป็นศาลาสองชั้นผูกเหล็กหล่อปูนใช้เป็นที่ทำบุญในวันพระและวันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมเป็นศาลาการเปรียญไม้สองชั้นโดยข้างบนใช้ประกอบพิธีและชั้นล่างปล่อยโล่ง ได้รับการรื้อและสร้างใหม่ในสมัย   พระครูวิจิตรธรรมสาร อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นรูปลายไทย มีรูปปั้นเป็นกงล้อ ทำการปฏิสังขรณ์โดยบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ในวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ได้ทำการบูรณะศาลาการเปรียญอีกครั้งในสมัยพระครูธีรสารปริยัติคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๘  โดยทำการยกศาลาการเปรียญให้สูงขึ้น แล้วทำการเทพื้นข้างล่างใหม่ พร้อมทั้งประดับตกแต่งติดไฟ พัดลม ให้ดูสวยงาม สืบเนื่องมาจากอุบาสกอุบาสิกาส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุมาก เดินขึ้นลงบันไดลำบาก จึงจัดให้มีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำบุญในวันพระที่ชั้นล่างของศาลาการเปรียญจวบจนถึงในปัจจุบัน

ศาลาการเปรียญ (ถ่ายเมื่อ ๗ มีนาคม ๒๕๕๖)
ศาลาการเปรียญ วัดมัชฌันติการาม


๔. ศาลาการเปรียญหลังใหม่ (คู่แฝด) เป็นศาลาการเปรียญที่สร้างขึ้นติดกับศาลาการเปรียญหลังเก่าที่ทำการยกให้สูงขึ้น มีลักษณะเป็นศาลาการเปรียญแฝดหลังใหญ่ ๒ ชั้น มียอดฟ้าใบระกา ชั้นล่างประตู,หน้าต่างติดกระจกใสมองทะลุผ่านได้ ติดไวดาวลายอย่างสวยงาม พร้อมพัดลมเพดาน มีการประดับตกแต่งเสาศาลาไว้สวยงาม และพื้นปูกระเบื้องแผ่นใหญ่ มีพระประธานประจำศาลาการเปรียญซึ่งได้หล่อขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งทำอาสน์สงฆ์ มีชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้ (ไม้แดง) ซึ่งศาลาการเปรียญแฝดนี้    ได้สร้างขึ้นในสมัย พระครูธีรสารปริยัติคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทาง เช่น งานบรรพชาอุปสมบท, งานเทศน์มหาชาติ, งานทำบุญเลี้ยงพระ, งานทอดกฐิน เป็นต้น

๕. โรงเรียนปริยัติธรรม เป็นอาคารเรียน ๓ ชั้น ชั้นที่หนึ่ง เป็นห้องประชุมและเป็นที่จัดงานการกุศล  ต่าง ๆ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำบุญในวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สืบเนื่องมาจากมีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญหลังเก่า  ชั้นที่สอง เป็นห้องเรียนและสำนักงานโรงเรียนปริยัติธรรมวัดมัชฌันติการาม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ซึ่งจะจัดให้มีการเรียนการสอนในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ซึ่งมีนักเรียนเป็น พระภิกษุ-สามเณร ภายในวัดฯ และมีพระภิกษุใหม่บวชเข้าพรรษา ก็จะได้รับการเรียนแผนกนักธรรม ตั้งแต่ นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก โดยจะมีการสอบในช่วงใกล้ ๆ จะออกพรรษา ส่วนแผนกบาลี ก็จะเริ่มสอนตั้งแต่ บาลีไวยากรณ์, ประโยค ๑-๒, ประโยค ๓ ส่วนประโยคที่สูง ๆ กว่านี้ ให้ศึกษาเอง หรือไปเรียนกับสำนักเรียนฯ อื่น ๆ และชั้นที่สามเป็นห้องสมุดพร้อมห้องอบรมวิปัสสนากรรมฐาน หน้าบันทั้งสามด้านเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ

โรงเรียนปริยัติธรรม วัดมัชฌันติการาม
โรงเรียนปริยัติธรรม วัดมัชฌันติการาม

๖. วิหารหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนปูนปั้นของท่านโดยคณะศิษย์สร้างถวายในปี พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางซ้ายของอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของ หลวงปู่ไขย จนฺทสาโร (พระครูวิจิตรธรรมสาร) และหลวงปู่พันธ์ อาจาโร (พระครูใบฎีกาพันธ์) และในปัจจุบันนี้วิหารหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช ได้สร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารจัตุรมุข มียอดฟ้าใบระกา ปูพื้นด้วยกระเบื้องแผ่นใหญ่ ประตูหน้าต่างเป็นไม้ มีโรงจอดเรือของหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช อยู่ด้านหลังของวิหาร ติดโคมไฟทั้งข้างในวิหาร และรอบวิหาร ปัจจุบันวิหารหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช  ตั้งอยู่ข้างท่าน้ำวัดทางด้านซ้าย ติดกับต้นโพธิ์ใหญ่ และติดประตูทางเข้าวัด

วิหารหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช วัดมัชฌันติการาม
วิหารหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช วัดมัชฌันติการาม

๗. ซุ้มประตูปากซอยเข้าวัด (ซอยวงศ์สว่าง ๑๑) เป็นซุ้มประตุแห่งเดียวในเขตบางซื่อ ที่นำตราคณะธรรมยุตินิกายมาประดิษฐานบนซุ้ม ทำด้วยหินอ่อนขัดทั้งซุ้ม สร้างในสมัยพระครูวิจิตรธรรมสาร ปัจจุบันซุ้มประตูของวัดได้ทรุดโทรมลงมาก ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้มีจิตศรัทธาร่วมกันบูรณะปฏิสังข์ให้ใหม่จนแล้วเสร็จ

ซุ้่มประตูหน้าถนนใหญ่ (เก่า) วัดมัชฌันติการาม
ซุ้มประตูหน้าถนนใหญ่ (เก่า) วัดมัชฌันติการาม
ซุ้มประตูหน้าวัดมัชฌันติการาม
ซุ้มประตูหน้าวัดมัชฌันติการาม

๘. หอระฆัง ๒ ชั้น หลังคาเป็นทรงไทย ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ชั้นหนึ่งใช้เป็นที่แขวนกลอง ชั้นสองใช้เป็นที่แขวนระฆังเพื่อตีบอกสัญญาณในวันพระและวันสำคัญอื่น ๆ สร้างในสมัยพระครูวิจิตรธรรมสาร อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ซึ่งหอระฆัง ๒ ชั้นดังกล่าว ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และไม่มีให้เห็นแล้ว และได้สร้างหอระฆัง ๓ ชั้น หน้าศาลาการเปรียญ แต่ก็ได้รื้อเสียแล้ว และได้สร้างหอระฆัง ๓ ชั้น ขึ้นใหม่แต่ตำแหน่งใกล้เคียงกับหอระฆัง ๒ ชั้น ในอดีต ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยของพระครูธีรสารปริยัติคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๘

หอระฆัง วัดมัชฌันติการาม
หอระฆัง วัดมัชฌันติการาม

 

๙. ฌาปนสถานวัดมัชฌันติการาม เป็นฌาปนสถานเตาเผาไร้มลพิษ ๒ เตา เพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ได้รับการอุปถัมภ์อย่างดียิ่งจากพุทธศาสนิกชน ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคในการเปลี่ยนหัวเตาจากไฟฟ้ามาเป็นหัวเตาเผาน้ำมันปราศจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำของพระครูธีรสารปริยัติคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๘ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๖

เมรุ วัดมัชฌันติการาม
เมรุ วัดมัชฌันติการาม

๑๐. ศาลาบำเพ็ญกุศล ๓ หลัง ก่อสร้างในสมัยพระครูวิจิตรธรรมสารได้รับการบูรณะในสมัยพระครูธีรสารปริยัติคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๘  เพื่อให้สะดวกยิ่งขึ้นต่อการบำเพ็ญกุศล ได้รับการอุปถัมภ์อย่างดียิ่งจากพุทธศาสนิกชน ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค

๑๑. ศาลาท่าน้ำริมคลองบางเขนใหม่ เป็นศาลาเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยสร้างอุโบสถ เป็นศาลาทรงไทยทำจากไม้มะค่าทั้งหลัง ได้รับการบูรณะมาหลายครั้งจนเด่นเป็นสง่า และได้รับการบูรณะอีกครั้งโดยครอบครัวสมจิตร์ โดยครั้งนี้ปูนพื้นเป็นแผ่นหินอ่อน เปลี่ยนกระเบื้อง และติดกระจกช่อฟ้าใหม่ พร้อมทั้งทาสีใหม่ทั้งหลัง

ศาลาท่าน้ำ วัดมัชฌันติการาม
ศาลาท่าน้ำ วัดมัชฌันติการาม

๑๒. เรือแจวของหลวงปู่อ่อน เป็นเรือขนาดใหญ่ ยาว ๙ เมตร กว้าง ๑ เมตร อายุกว่า ๑๔๐ ปี เป็นเรือที่ประชาชนชาวสวนรอบวัดมัชฌันติการาม สร้างถวายหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช อดีตเจ้าอาวาสรูปแรก เพื่อใช้ในการรับบิณฑบาตรตามคลองบางเขนใหม่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ข้างวิหารหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช (หลังใหม่)

เรือของหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช วัดมัชฌันติการาม
เรือของหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช วัดมัชฌันติการาม