ทั้งสองสถาบันนั้นต่างมีที่มาแห่งนามสถาบันจากที่เดียวกัน กล่าวคือ วัดมัชฌันติการามนั้นเป็นนามโปรดเกล้าฯพระราชทาน ในรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นเกียรติ แก่เจ้าจอมมารดาเที่ยง เจ้าจอมมารดาในราชกาลที่ ๔ นามพระราชทานนี้ใช้มาตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๔๑๗
และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทั้งชื่อสถาบันและตราสัญลักษณ์ของสถาบันล้วนเกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทั้งสิ้น กล่าวคือ ในปี พุทธศักราช ๒๕๐๒ ประเทศไทย ต้องการที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในด้านเศรษฐกิจเฉกเช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วต่าง ๆ จึง เกิดความร่วมมือทางวิชาการจากสถาบันชั้นนำในประเทศนั้น ๆ เข้ามาช่วยเหลือในด้านวิชาการ เครื่องมือ และส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยหนึ่งในสถาบันเหล่านั้นคือ สถาบันเทคโนโลยีไทย-เยอรมัน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณริม ถนนพิบูลสงคราม
จนมาถึง พุทธศักราช ๒๕๑๔ สถาบันฯ ได้รับพระราชทานนามจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมทั้งได้รับ อนุญาตให้อัญเชิญพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระบรมราชลัญจกร ประจำพระองค์ ของในหลวงรัชกาลที่ ๔ มาเป็นตราของสถาบันตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาสภาสถาบันอนุมัติยกฐานะศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานระดับคณะภายในสถาบัน เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ มีประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเปลี่ยนสถานภาพเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับศึกษาจะคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ
ส่วน วัดมัชฌันติการาม เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ผู้ที่สถาปนาคณะธรรมยุติกนิกาย คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นทั้งสถาบันก็ดี วัดมัชฌันติการามก็ดี จึงมีความเกี่ยวข้องกันด้วยเหตุนี้ งานต่าง ๆ ของวัดมัชฌันติการาม ได้รับความอุปถัมภ์ด้วยดีจากทางมหาวิทยาลัย ตั้งแต่อธิการบดี คณะผู้บริหาร คณะครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากร รวมถึงนิสิตนักศึกษาของสถาบัน ต่างก็ให้การอุปถัมภ์ต่อวัดมัชฌันติการาม ด้วยดีมาตามลำดับ เช่นเดียวกันเมื่อทางมหาวิทยาลัยได้มีกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพิธีประสาทปริญญาบัตร ครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา ทำบุญคณะฯ ทำบุญภาควิชาต่าง ๆ ทำบุญทอดผ้าป่า ทำบุญทอดกฐิน ทำบุญสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม รวมถึงการทำบุญตักบาตร ข้าวสารอาหารแห้ง วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ ฯลฯ เป็นต้น ทางมหาวิทยาลัยนิยมที่จะนิมนต์พระเถรานุเถระจากวัดมัชฌันติการาม ด้วยแล้วคณะครูอาจารย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่ และนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เป็นผู้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเข้ามาอุปถัมภ์ต่อการร่วมทำบุญ บูรณปฏิสังขรณ์วัดมัชฌันติการามด้วยดีตลอดมาจวบจนถึงปัจจุบัน