fbpx

ประวัติพระครูใบฎีกาพันธุ์ (หลวงปู่พันธ์ อาจาโร)

ประวัติพระครูใบฎีกาพันธุ์ (หลวงปู่พันธ์ อาจาโร)

หลวงปู่พันธ์ อาจาโร, พระครูใบฎีกาพันธ์ อาจาโร
พระครูใบฎีกาพันธ์  (หลวงปู่พันธ์  อาจาโร)


          หลวงตาพันธุ์ นามเดิมชื่อ พันธุ์ เกตุพิมาย เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ปีจอ ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โยมบิดาชื่อ นายสี เกตุพิมาย    โยมมารดาชื่อ นางหล้า เกตุพิมาย

มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๖ คน หลวงตาเป็นคนที่ ๕ คือ

๑. นายสีเกตุพิมาย (เสียชีวิตแล้ว)
๒. นายสิงห์ เกตุพิมาย (เสียชีวิตแล้ว)
๓. นายตา เกตุพิมาย (เสียชีวิตแล้ว)
๔. นายสา เกตุพิมาย (เสียชีวิตแล้ว)
๕. นายพันธุ์ เกตุพิมาย หรือ หลวงตาพันธุ์ (เสียชีวิตแล้ว)
๖. นางจันทร์ เกตุพิมาย (เสียชีวิตแล้ว)

 

การศึกษาเบื้องต้น
      หลวงตาพันธุ์ท่านจบชั้นต้น จากโรงเรียนวัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา

 

บรรพชาอุปสมบท

หลวงตาพันธุ์ มีจิตใจโน้มเอียงไปทางธรรมตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส ด้วยเห็นทุกข์ในวัฏสงสารแล้วว่าเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัวยิ่ง ดังนั้น เมื่อโยมมารดา (เป็นแม่ชีและเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร) เอ่ยปากขอให้ท่านบวชเพื่อทดแทนน้ำนม ท่านก็รับปากทันที ทั้งๆ ที่ขณะนั้นมีอายุถึง ๓๘ ปีแล้วก็ตาม (ท่านไม่มีครอบครัว) ก่อนที่จะอุปสมบทนั้น ได้เป็นตาปะขาวอบรมบ่มนิสัยอยู่ ณ วัดป่าศรัทธาธรรม อ.เมือง จ.นครราชสีมา

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ครั้นต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ณ พัทธสีมา       วัดสุทธจินดา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยได้รับเมตตาจาก ท่านเจ้าคุณพระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา และอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสุทธศีลสังวร วัดสุทธจินดา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์บุญ ปุญญกโร วัดสุทธจินดา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อาจาโร” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีมารยาทอันงาม

พระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล)
พระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล)

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษาแรกที่วัดป่าศรัทธาธรรม เพื่อฉลองศรัทธาโยมแม่หล้า เกตุพิมาย และญาติพี่น้อง ตลอดพรรษาแรก หลวงตาพันธ์ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม และพึงระลึกอยู่เสมอว่าท่านจะเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาสัจธรรม หาอุบายในการพ้นจากวัฏสงสารให้ได้

การศึกษาทางธรรม

ศึกษาพระธรรมวินัยพอเป็นเครื่องในการครองสมณเพศ ประกอบกับสมัยนั้นชื่อเสียงของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของพระป่าสายกรรมฐานเป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ได้แสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนศิษยานุศิษย์ ทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส อยู่ที่จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ด้วยเหตุนี้เมื่อพ้นพรรษาแรกแล้ว หลวงปู่จึงออกเดินทางธุดงค์รอนแรม ในป่าฝ่าฟันความลำบากนานัปการจากนครราชสีมาไปสกลนคร โดยใช้เส้นทางผ่าน จ.อุดรธานี จนกระทั่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือ       (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ช่วงก่อนวันมาฆบูชา พ.ศ.๒๔๙๒ ก็ได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพพระป่าผู้แสวงธรรมวิมุตติ ตามที่ได้ตั้งจิตปรารถนา พระอาจารย์มั่น ได้มีเมตตาอบรมสั่งสอนธรรมแก่หลวงปู่พันธุ์ โดยให้ถือหลักธรรม “ตจปัญจกกรรมฐาน” พิจารณาขันธ์ 5สังขารของตัวเราว่ามีความเสื่อมเป็นสิ่งธรรมดา อย่าไปยึดติด และปรุงแต่งตามกิเลส

นอกจากนี้ หลวงปู่มั่นยังได้เมตตาอนุญาตให้หลวงปู่พันธุ์ ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิหาอุบายธรรม ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) บำเพ็ญเพียรทั้งเดินจงกรมและฟังธรรมจากหลวงปู่มั่น ทุกช่วงเย็น จวบจนเวลาใกล้เข้าพรรษา หลวงปู่พันธุ์จึงได้กราบลาหลวงปู่มั่น เดินทางกลับนครราชสีมา บ้านเกิด

ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม)
พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม)

ครั้นเมื่อเดินทางถึง จ.นครราชสีมา หลวงตาพันธุ์ได้มีโอกาสไปฝากตัวเป็นศิษย์รับอบรมธรรมจาก พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม) แห่งวัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น พระอาจารย์บุญ ปุญญกโร พระกรรมวาจารย์ของท่าน ได้ชวนกันเดินธุดงค์มาทางภาคกลาง เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์รูปสำคัญอีกหลายรูป จนได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นป่าร่มรื่นสงบยิ่งนัก และได้ขอความเมตตาจากพระครูวิจิตรธรรมสาร (หลวงปู่ไขย) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามรูปที่ ๗ หลวงปู่พันธ์ อาจาโร ได้อยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๔ – จนกระทั่งมรณภาพ

 

สมณศักดิ์
     พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นพระสมุพันธุ์ อาจาโร ฐานานุกรมในพระสาธุศีลสังวร (สนธิ์ กิญจกาโร ป.ธ. ๕) วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นพระครูใบฎีกา ฐานานุกรม ในพระเทพญาณวิศิษฏ์ (สนธิ์ กิญจกาโร ป.ธ. ๕) วัดบวรนิเวศวิหาร สมณศักดิ์ในขณะนั้น

 

หน้าที่การงาน
   – เป็นพระผู้ทรงปาฏิโมกข์
– อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม
– เป็นกรรมการสงฆ์วัดมัชฌันติการาม
– เป็นปูชนียบุคคลของคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาวัดมัชฌันติการาม

 

ปฏิปทา
          ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เดินจงกรมเป็นวัตร ชอบให้ทาน และเมตตาสูง     อยู่ง่าย ขบฉันง่าย ชอบกระทำให้เห็นมากกว่าการพูด ชอบฟังผู้ที่มาหาท่านพูด มากกว่าจะเป็นฝ่ายให้ท่านพูด ชอบธุดงค์ไปตามถ้ำ ตามเขา เพียงผู้เดียว เพราะเห็นท่านบอกว่า ไปองค์เดียวสบาย ไม่ต้องห่วงใคร คำสอนที่ท่านพร่ำสอนอยู่บ่อย ๆ คือ “อย่าวุ่นวาย”

 

มรณภาพ
      หลวงปู่พันธุ์ อาจาโร ปกติท่านจะเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงและอารมณ์ดีมาก แต่เนื่องจากท่านเป็นผู้สูงวัย ความคร่ำคร่าจากความชราภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ มิ.ย. ๒๕๔๘ เหล่าศิษย์ยานุศิษย์ เห็นว่าท่านผอมลง ฉันข้าวได้น้อย และมีอาการเจ็บคอ เสมหะมาก จึงได้นิมนต์ท่านเพื่อไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผลการตรวจหาสาเหตุไม่พบ แพทย์จึงให้กลับวัด และนัดตรวจอีกครั้งเพื่อดูอาการ
ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๘ ก็ยังไม่พบสาเหตุของอาการ แพทย์จึงได้ตัดเนื้อเยื้อในลำคอของท่านไปตรวจ และนัดตรวจอีกครั้ง
ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๓ ก.ค. ๒๕๔๘ หมอลงความเห็นว่าเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารจึงได้ใส่ท่อช่วยในการขบฉัน และให้ท่านรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ท่านไม่ต้องการอยู่ต่อที่โรงพยาบาล ท่านจึงขอกลับวัด หมอก็อนุญาตให้กลับและให้มาตามนัด เมื่อกลับมาอาการท่านก็ทรง ๆ ทรุด ๆ

จนกระทั้งในวันที่ ๒๘ ก.ค. ๒๕๔๘ อาการหนักมากมีเสมหะออกเป็นเลือดมาก ถ่ายเป็นเลือด ตัวซีด พระโอรส (พระอุ๋ย) พระดูแลอยู่ จึงขอนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาลยันฮี ซึ่งอยู่ใกล้วัดที่สุด แต่ท่านไม่ยอมไป ท่านบอกว่าทนเอา แต่พระอุ๋ย เห็นว่าอาการหลวงตาหนักขึ้นเลื่อย ๆ ท่านจึงออกปากนิมนต์อีกครั้งว่า หลวงตาให้หมอช่วยดับเวทนาให้สักหน่อยเถิด หลวงตาจึงยอมไปรักษาตามคำนิมนต์ เมื่อท่านไปรับการรักษา หมอก็ฉีดยาให้ อาการก็ดีขึ้นและให้กลับวัดได้

และเมื่อวันที่ ๓๐ ก.ค. ๒๕๔๘ – ๑ ส.ค. ๒๕๔๘ อาการอาพาธของหลวงตาก็หนักขึ้นอีก จึงได้นิมนต์หลวงตาเข้ารับการักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่เนื่องจากสังขารอันชราวัย ๙๔ ปี ทั้งยังมีโรคแทรกซ้อน รวมไปถึงร่างกายซึ่งไม่รับยาที่ฉีดเข้าไปได้อีกแล้ว คือตามตัวของหลวงตามีแต่น้ำไหลออกมาแม้แต่ยาที่ฉีดเข้าไปก็ไหลออกมา แต่ถึงกระนั้นสติของหลวงตาก็ยังบริบูรณ์ รู้อยู่ทุกขณะจิต ท่านหลับตารับรู้ถึงวิบากเวทนาของร่างกายของท่านอยู่โดยตลอด ท่านไม่เคยปริปากร้องโอดครวญให้ใครได้ยินหรือเห็นเลย ท่านจะหลับตาและดูเวทนาอยู่ตลอดแต่ถ้าใครไปหาท่าน ท่านจะลืมตาแล้วพยักหน้ารับรู้ว่าเขาเหล่านั้นได้มีน้ำใจมาเยี่ยมเยียนตัวท่าน แล้วท่านก็จะหลับตาต่อไปอีก

ท่านเคยบอกว่ามันเจ็บปวดมากจนฉันอะไรลงไปไม่ได้ แม้แต่น้ำเปล่า และเมื่อวันที่ ๙ ส.ค. ๒๕๔๘ เวลา ๒๔.๑๗ น. หลวงตาก็ได้ดับจิตรมรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ ๙๔ ปี ๑๐ เดือน ๒๑ วัน

 

สหธรรมมิก

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท

สหธรรมิกของหลวงปู่ มีด้วยกันหลายรูปแต่ที่พอเอ่ย ๆ นาม ก็มี หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี, หลวงปู่จำปี ชาคโร วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นต้น ภายหลังจากหลวงปู่มรณภาพ ท่านได้อุทิศร่างกายให้กับ โรงพยาบาลจุฬา ซึ่งทางวัดได้ใช้เกศา และเล็บของท่านใส่ในโลง บำเพ็ญกุศล จนครบกำหนดศิษยานุศิษย์จึงไปขอรับศพท่านมาฌาปนกิจ งานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่พันธุ์ อาจาโร ถูกจัดขึ้นที่ วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานเพลิงศพ

 

พระธรรมเทศนา

หลวงปู่พันธุ์ อาจาโร เป็นพระที่เน้นการปฏิบัติให้ดูมากกว่าการสอนด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา หลักธรรมคำสอนของท่านจึงเป็นแบบง่าย ๆ สั้น ๆ ฟังแล้วเข้าใจทันทีไม่ต้องเสียเวลาแปล ซึ่งหลวงปู่มักจะสอนธรรมตอนที่อยู่ว่าง ๆ ปราศจากผู้คนมาก “โชคดี ๆ เด้อ” เป็นคำอวยพรที่ท่านให้บ่อย ๆ กับศิษยานุศิษย์ที่เข้ามาขอพึ่งบารมีธรรมจากท่าน คำว่าโชคดี คือ โชคดีทั้งใจและกาย มีใจสงบเยือกเย็น ทำนองทำใจให้สะอาด สว่างและสงบ เจริญในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำใจให้ว่างบ้างจากปัญหาทั้งปวง เพราะเราจะมีอยู่หรือดับไปปัญหาทั้งหลายก็ยังมีอยู่อย่างนี้ ต้องรู้จักทำใจให้ปล่อยวาง แล้วจะพบกับความสุข เป็นความสุขทางใจที่ไม่มีการซื้อขายกันได้ เป็นของเฉพาะบุคคลใครทำมากก็ได้มาก ใครทำน้อยก็ได้น้อย ใครไม่ทำอาจไม่ได้อะไรเลย เมื่อใจปลอดโปร่งเรื่องอื่น ๆ ก็ค่อยปลอดโปร่งไปด้วย ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมขององค์พระบรมศาสดา เช่นในหัวข้อธรรมที่ว่า มีศีล ๕ มีเมตตา กรุณา รู้จักคิดหาเหตุผล เป็นต้น

 

ตจปัญจกกัมมัฏฐาน

กรรมฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่สุด มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูลหรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง ๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพัน แล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตามอำนาจกิเลส เป็นบทอุบายธรรมครั้งแรกที่หลวงปู่ได้รับ จากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ศาลาโรงธรรมวัดป่าบ้านหนองผือ ก่อนวันมาฆบูชา ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ให้พิจารณาสังขารไปมาว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คร่ำคร่า และเดินสู่ความตายอันเป็นจุดหมายเหมือนกันทุกคน ทุก ๆ วินาที ซึ่งจะทำให้เราไม่ประมาทต่อวัยของเรา ต่อการดำเนินชีวิตของเรา สิ่งที่ธรรมชาติให้เรามาเท่ากันทุกคน คือเวลา ๒๔ ชั่วโมงและความตายเท่ากันทุกคนไม่เลือกวัย ไม่เลือกไพรหรือขุนนาง ด้วยเหตุนี้เราทุกคนต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท หมั่นในการทำความดีอยู่เสมอ ๆ ดังบทพิจารณาสังขารที่หลวงปู่ท่านระลึกอยู่เสมอด้วยความไม่ประมาท

ที่ดำกับขาว       คือ เส้นผม

ที่ยาวกลับสั้น     คือ ตาหรือสายตาสั้นยาวนั้นเอง

ที่มั่นกลับคอน    คือ ฟันคนเราซึ่งพออายุมากก็จะสั่นคอน

ที่หย่อนกลับตึง   คือ หูพอเราแก่ตัวไปหูก็จะตึง

ที่เคยซึ้งกับเลอะ คือ ความจำหรือสตินั่นเอง

(บทนี้ก็เป็นบทที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดสอนไว้เหมือนกัน)