fbpx

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพปรับภูมิทัศน์สวนป่าปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นรมณียสถาน โครงการสร้างสวนป่ากลางกรุงวัดมัชฌันติการาม

•••ขอเชิญพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพปรับภูมิทัศน์สวนป่าปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นรมณียสถาน โครงการสร้างสวนป่ากลางกรุงวัดมัชฌันติการาม ตามกำลังศรัทธา
•••ติดต่อสอบถามได้ที่ พระมหาบุญยอด สุเมโธ 094-004-6876 และ พระชาลี ปริชาโน 089-149-8310.
•••ร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพตามกำลังศรัทธาได้ที่ “บัญชีสวนป่าปฏิบัติธรรม ฯ” ธนาคารกรุงไทย สาขาวงศ์สว่าง เลขที่บัญชี 193-0-21988-1


โครงการปรับภูมิทัศน์สวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง
วัดมัชฌันติการาม
•••”รมณียสถาน”คือสถานที่อันน่ารื่นรมย์เหมาะสมในการปฏิบัติ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (13/491/339) ความว่า “ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพแสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นคว้าสันติวรบท อันไม่มีสิ่งอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า เที่ยวจาริกไปในมคธชนบทโดยลำดับ บรรลุถึงอุรุเวลาเสนานิคม ณ ที่นั้น อาตมภาพได้เห็นภาคพื้นน่ารื่นรมย์ มีไพรสณฑ์น่าเลื่อมใส มีแม่น้ำไหลอยู่ น้ำเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ และมีโคจรคามโดยรอบ อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ภาคพื้นน่ารื่นรมย์หนอ ไพรสณฑ์ ก็น่าเลื่อมใส แม่น้ำก็ไหล น้ำเย็นจืดสนิท ท่าน้ำก็ราบเรียบน่ารื่นรมย์ และโคจรคามก็โดยรอบ สถานที่เช่นนี้สมควรเป็นที่ตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียรหนอ ดูกรราชกุมาร อาตมภาพนั่งอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง ด้วยคิดเห็นว่า สถานที่เช่นนี้สมควรเป็นที่ทำความเพียร”


•••ชื่อโครงการ​​​โครงการปรับภูมิทัศน์สวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง วัดมัชฌันติการาม

หน่วยงานที่รับผิดชอบ​​วัดมัชฌันติการาม

ระยะเวลาดำเนินการ​​ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน (ธันวาคม 2564 – มีนาคม 2565)

หลักการและเหตุผล
สวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง วัดมัชฌันติการาม เป็นรมณียสถาน ในดำริของพระพุทธิสารโสภณ (เดช กตบุญโญ, รศ. ดร.) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม เพื่อเป็นสถานที่สำหรับเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียน การสอน และการปฏิบัติพัฒนาสมาธิของพุทธศาสนิกชนทุกเพศ ทุกวัย และเพื่อเป็นสถานที่ประกอบอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ อันได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา ตลอดจนเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพิ่มพูนสติปัญญา พัฒนาสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน
จากดำริข้างต้น ในการออกแบบสวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง จึงได้กำหนดพื้นที่ใช้สอยให้เอื้อสำหรับการทำกิจกรรมในวัด ผสมผสานเรื่องประโยชน์ใช้สอยและความงามเข้าด้วยกัน ภายใต้บริบทของสภาพที่ตั้ง ผู้ใช้และกิจกรรมเพื่อทำให้เกิดสภาวะน่าสบาย น่าอยู่ น่าใช้งาน วางแผนการใช้งานพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด ปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนเพื่อรับรองการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัย มีบรรยากาศที่ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรม และสามารถบริหารจัดการกายภาพของวัดในเขตสวนป่าปฏิบัติธรรมให้สามารถใช้สอยพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ มีทิศทางทั้งการก่อสร้าง การวางระบบสาธารณูปโภค และการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ให้อยู่ในตำแหน่งและมีรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ จัดเตรียมพื้นที่ บุคลากรและงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง
นอกเหนือจากการก่อสร้างอาคารสำคัญภายในสวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง วัดมัชฌันติการามแล้ว บริเวณภายนอกอาคารและสถานที่สำคัญก็ต้องปรับแต่งพื้นที่ให้มีประโยชน์ใช้สอยที่มีประสิทธิภาพ มีความร่มรื่นสวยงาม และมีเอกลักษณ์ ตลอดจนเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติเดิม พยายามรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด และตอบสนองต่อการเข้าไปใช้สอยพื้นที่ของพุทธศาสนิกชน รวมทั้งการมีองค์ประกอบพื้นฐาน เช่น ระบบการให้แสงสว่าง ระบบให้น้ำต้นไม้ ระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบอำนวยความสะดวก เช่น ม้านั่ง ถังขยะ ป้าย ตลอดจนสิ่งประเทืองใจ เช่น น้ำพุ น้ำตก หรือประติมากรรม ดังนั้น โครงการปรับภูมิทัศน์สวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง วัดมัชฌันติการาม จึงต้องมีขึ้นเพื่อกำหนดรูปแบบและแผนงานการจัดการพื้นที่ ให้ตรงต่อความต้องการใช้ประโยชน์ของผู้ใช้งาน และให้มีความสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และงบประมาณ ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน อันจะนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ และยังเป็นการถนอมใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อความยั่งยืนต่อไปในอนาคต


วัตถุประสงค์
1) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
2) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียน การสอน และการปฏิบัติพัฒนาสมาธิของพุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย
3) เพื่อเป็นสถานที่ประกอบอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ อันได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา ตลอดจนเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพิ่มพูนสติปัญญา พัฒนาสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน


เป้าหมาย
​​ปรัปปรุงพัฒนาภูมิทัศน์ของสวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง วัดมัชฌันติการาม พื้นที่ทั้งหมด …………. โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารศาลาปฏิบัติธรรมบูรพาจารย์พุทธิสารโสภณ ขนาด …………………. และพื้นที่บริเวณพระพุทธเมตตาและกุฏิพระกรรมฐาน ขนาด …………………. ภายใต้แนวคิดส่งเสริมความเป็น “พื้นที่รมณียสถาน” มีความสงบ สัปปายะ เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาทางจิตวิญญาณของชุมชนและสังคม รวมทั้งบุญกริยา ทาน ศีล ภาวนา และไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา โดยแบ่ง การพัฒนาพื้นที่เป็นไปตามกิจกรรม ดังนี้


1) กำหนดให้มีพื้นที่สวนธรรมชาติ เนื่องจากต้นไม้ เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณาอย่าง ไม่มีขอบเขตจำกัด เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างความร่มรื่นให้แก่วัด ให้พุทธบริษัทเข้ามาเรียนรู้ พักผ่อน สร้างสรรค์ขึ้น ปรับใช้หรือพัฒนาพื้นที่เพื่อตอบสนองต่อประโยชน์ใช้สอย มีความงาม กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติเดิม เหมาะสมกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ภายในพื้นที่สีเขียวของสวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง วัดมัชฌันติการาม ประกอบด้วยพรรณไม้ที่มีความเป็นสิริมงคล มีความสำคัญและเป็นที่เคารพสักการะเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ พรรณไม้ดอกหลากหลายที่เลือกสรรมาปลูก มีกลิ่นหอมทั้งกลางวันและกลางคืน ตั้งแต่กลิ่นหอมนุ่ม ๆ ไปจนถึงกลิ่นหอมแรง ๆ ซึ่งจะช่วยดูดซับอากาศและเสียงโดยรอบ ตกแต่งให้สวยงามตามลักษณะของพื้นที่ ให้ความสงบร่มเย็น ร่มรื่น และมีสระบัว ประกอบด้วยบัวปทุมชาติ หรือบัวหลวงสีชมพูอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเมตตา บัวหลวงจะบานในช่วงเช้า สวยงามและมีกลิ่นหอมถือเป็นพุทธบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
​​2) กำหนดให้มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมเสริมสร้างการพัฒนาด้านสติปัญญาและจิตใจ ได้แก่ พื้นที่เดินจงกรมและนั่งสมาธิอยู่ท่ามกลางต้นไม้ ทางเดินจงกรมที่มีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ และมีที่นั่งทำสมาธิในที่ร่มเย็นสงบเงียบ ปราศจากเสียงรบกวน มีทางเดินเท้าที่ปรับพื้นให้เสมอตลอดแนวและมีความปลอดภัย เพื่อพุทธบริษัทจะได้เดินสะดวกโดยไม่มีความกังวลในขณะที่กำลังเดินจงกรม หรือจะเดินอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม การเดินจงกรมมีประโยชน์หลายอย่าง อาทิ ทำให้เรามีความอดทนมากขึ้นในการที่จะทำอะไรต่าง ๆ ในชีวิต ทำให้เดินได้ไกลแล้วไม่เหนื่อยง่าย ทำให้สุขภาพดี โรคภัยไม่เบียดเบียน ช่วยให้อาหารย่อยง่าย รวมถึงสมาธิที่เกิดจากการเดินจงกรมจะตั้งอยู่ได้นาน พื้นที่ส่วนนี้จะออกแบบและเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับรูปแบบของสวน เพื่อให้ภาพรวมสวยงามและน่าใช้งานมากยิ่งขึ้น
ภายในพื้นที่เดินจงกรม นั่งสมาธิหน้าศาลาปฏิบัติธรรมบูรพาจารย์พุทธิสารโสภณ มีเสมาธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกของพระพุทธเจ้า โดยทรงเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์  ด้วยพระธรรมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตนะ” ซึ่งเป็นกำเนิดของวงล้อธรรมะอันจะหมุนเคลื่อนตัวไปรอบแล้วรอบเล่า เพื่อจะให้เข้าถึงประชาหมู่สัตว์ทั่วๆ ไป ดุจวงล้อของราชรถที่พระราชาประทับขับเคลื่อนไป และมีเสาอโศก หรือเสาแห่งพระเจ้าอโศก แปลว่า “เสาแห่งธรรม” เป็นเสาสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาในผืนแผ่นดินแห่งชมพูทวีปเมื่อครั้งอดีตกาล สร้างขึ้นโดยพระราชโองการของพระเจ้าอโศก ผู้ซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง โดยจะสร้างเสาศิลาปักตั้งไว้ ณ ตำแหน่งของสถานที่ที่เป็นสังเวชนียสถาน และสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าการสร้างเสาอโศกไม่เพียงแต่เป็นการระบุถึงที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนการประกาศถึงพระพุทธศาสนาที่ได้ขยายขอบเขตแว่นแคว้นไปทั่วทุกแห่งหนในรัชสมัยของพระองค์ เป็นเครื่องหมายแทนพุทธบูชา หัวเสาอโศกมักประดับด้วยประติมากรรมรูปสัตว์ต่าง ๆ แต่ในสวนป่าปฏิบัติธรรมแห่งนี้ใช้เป็นหัวเสาอโศกรูปสิงห์ เป็นประติมากรรมรูปสิงโตเอเซีย 4 ตัว ยืนหันหลังชนกันบนฐานที่แกะสลักมีสัตว์อื่นประกอบอยู่ด้วย ช้าง สิงโต ม้าและวัว เป็นสัตว์ประจำทิศ โดยสิงโตพิทักษ์ทิศเหนือ ช้างพิทักษ์ตะวันออก ม้าพิทักษ์ทิศใต้ วัวตัวผู้พิทักษ์ทิศตะวันตก คั่นด้วยวงล้อหรือธรรมจักรเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำรูประฆัง การที่เสาอโศกใช้สิงโตนั้นสันนิฐานความหมายได้หลายทาง อาทิ เป็นการสื่อถึงวงวารเก่าของพระพุทธเจ้า คือ ศากยวงศ์เป็นราชวงศ์สิงโต และสันนิษฐานเพิ่มเติมว่าสิงโตเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความภาคภูมิใจ ความกล้าหาญ แสดงถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่แผ่ไปทั่วทุกหนทุกแห่งในแผ่นดินอนุทวีป
ลานอนุสรณ์สถานเจ้าจอมมารดาเที่ยง เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณงาม ความดีของเจ้าจอมมารดาเที่ยง ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดมัชฌันติการาม เมื่อ พ.ศ. 2417 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดมัชฌันติการาม เจ้าจอมมารดาเที่ยง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดปรานและไว้วาง พระราชหฤทัยยกย่องเป็นพระสนมผู้ใหญ่ โปรดกล้า ฯ ให้บัญชาการห้องพระเครื่องต้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงให้พระประสูติการพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 10 พระองค์ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2456 สิริอายุได้ 82 ปี 1 เดือน 6 วัน และเพื่อเป็นการแสดงกตัญญุตาน้อมรำลึกถึงพระคุณของผู้สร้างวัด คณะกรรมการของวัดมัชฌันติการามร่วมด้วยพุทธบริษัทในราชสกุลแห่งเจ้าจอมมารดาเที่ยง มีดำริสร้างอนุสรณ์สถานของท่านไว้ ณ สวนป่ากลางกรุง วัดมัชฌันติการาม

วิธีดำเนินการ
​​จัดการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการวัดมัชฌันติการาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ และบริษัทซี วี เอส จำกัด ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง และจ้างเหมาก่อสร้าง

ประมาณการค่าใช้จ่าย ​​5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
​​มีสถานที่ภายนอกบริเวณหน้าและโดยรอบอาคารศาลาปฏิบัติธรรมบูรพาจารย์พุทธิสารโสภณที่สะอาด สวยงาม ร่มรื่น ปลอดภัย มีประโยชน์ใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสวนป่าปฏิบัติธรรมกลางกรุง และมีองค์ประกอบพื้นฐานจำเป็นครบถ้วน ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการจัดการพื้นที่ในอนาคต