fbpx

ขอเชิญพุทธศาสนิกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างเสาอโศกประดุจธงชัยแห่งพระพุทธศาสนา

•••ขอเชิญพุทธศาสนิกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างเสาอโศกประดุจธงชัยแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อระบุสถานที่ตั้งที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ไว้ในสวนป่าปฏิบัติธรรม โครงการสร้างสวนป่ากลางกรุงวัดมัชฌันติการาม
>>>ทั้งนี้สามารถ ติดต่อสอบถามได้ที่ พระมหาบุญยอด สุเมโธ 094-0046876 , พระชาลี ปริชาโน 089-149-8310 และร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพสร้างเสาอโศกตามกำลังศรัทธาได้ที่ “บัญชีสวนป่าปฏิบัติธรรม ฯ” ธนาคารกรุงไทย สาขาวงศ์สว่าง เลขที่บัญชี 193-0-21988-1
•••ความหมายที่สำคัญของ ” เสาอโศก “
” เสาอโศก ” หรือ ” เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ” เป็นเสาหินโบราณที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เมารยะ ที่ปกครองอนุทวีปอินเดียในช่วงยุคพุทธศตวรรษที่ ๔ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเสาหินทรายขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อระบุสถานที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
เสาหินเหล่านี้สร้างโดยหินทรายจากเมืองจุณนา เมืองทางตอนเหนือของอินเดีย

ซึ่งถือได้ว่ามีคุณภาพดีที่สุดในสมัยนั้น โดยทุกเสาจะมีหัวสิงห์แกะสลักอยู่ ตัวเสาจะมีคำจารึกถึงความสำคัญของสถานที่ตั้งเสาหรือประกาศพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช
เสาอโศกที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่อารามหลวงแห่งเจ้ามัลละ ในเมืองเวสาลี เมืองสำคัญในสมัยพุทธกาล แต่เสาอโศกต้นที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ เสาอโศกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา เป็นเสาที่หักเป็นสี่ท่อน แต่ว่ารูปสลักรูปสิงห์สี่ทิศบนเสายังคงมีสภาพสมบูรณ์ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้นำรูปสลักที่เสานี้มาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ รูปพระธรรมจักร ๒๔ ซี่ ได้ถูกนำไปประดิษฐานในธงชาติอินเดีย และข้อความที่จารึกไว้โดยพระเจ้าอโศกว่า ” สตฺยเมว ชยเต ” แปลว่า ” ความจริงชนะทุกสิ่ง ” ได้กลายมาเป็นคำขวัญประจำชาติอินเดียในปัจจุบัน
เดิมนั้น เสาอโศก มีอยู่ทั่วไป แต่ต่อมาได้ถูกทำลายลงทั้งจากมนุษย์และภัยธรรมชาติ คงเหลือเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้นที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ในปัจจุบัน
ลักษณะของยอดเสาหิน ๔ ประการคือ
๑. บนยอดเสาแกะสลักเป็นรูปสิงโต ๔ ตัว นั่งหลังชนกัน ซึ่งอยู่ในลักษณะคำรามหรือเปล่งสีหนาท แต่เดิมมีธรรมจักรตั้งอยู่บนหลังของสิงห์ทั้ง ๔ เป็นลักษณะสิงห์แบกธรรมจักร ซึ่งมี ๒๔ ซี่ ธรรมจักร คือ เครื่องหมายทางพระพุทธศาสนา
๒. ใต้ฐานสิงโตมีรูปธรรมจักร ๔ ด้าน วงล้อธรรมจักรมี ๒๔ ซี่ เท่ากับจำนวนปฏิจจสมุปบาท ทั้งขบวนการเกิดและขบวนการดับ ( ทุกข์ )
๓. ระหว่างรูปธรรมจักรแต่ละด้านมีรูปสัตว์สำคัญ ๔ ชนิด เรียงไปตามลำดับ คือ ” ช้าง โค ม้า และสิงโต ” ซึ่งล้วนมีความหมายเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ซึ่งนักปราชญ์ได้ให้ความหมายดังนี้
– ” ช้าง ” หมายถึง การเสด็จลงสู่พระครรภ์ ( พระมารดาสุบินเห็นช้างเผือก ) หรือ ปัญญาชาญฉลาด สุขุมเยือกเย็น
– ” โค ” หมายถึง ทรงได้ปฐมฌาน ( ขณะพระบิดาทรงทำพิธีแรกนาขวัญ ) หรือ ความแข็งแรง อดทน
– ” ม้า ” หมายถึง การทรงม้าเสด็จออกผนวช หรือ ฝีเท้าอันรวดเร็ว
– ” สิงโต ” หมายถึง การแสดงธรรมจักร ซึ่งเปรียบเหมือนการเปล่งสีหนาท หรือการคำรามของพญาราชสีห์ สร้างความยำเกรงแก่สรรพสัตว์ และ อาจหมายถึงพละกำลังอันมหาศาล
#สัตว์ผู้ทรงความยิ่งใหญ่นี้จะคอยเฝ้าพระธรรมจักรให้ดำรงอยู่ส่งเสียงสีหนาทกึกก้องไปทั่วชมพูทวีป
๔. รองลงมาจากรูปสัตว์สำคัญเหล่านั้น เป็นรูปกลีบบัว อันเป็นดอกไม้ประจำพระพุทธศาสนา หรือ ความบริสุทธิ์นั่นเอง.